เริ่มจากพิธีจีนที่บ้านเจ้าสาวก่อน
โดยเจ้าบ่าวจะต้องมารับตัวเจ้าสาวที่บ้าน และนำขันหมาก ของหมั้น รวมไปถึงส้มมาให้ ซึ่งส้มก็จะต้องเป็นส้มเช้งที่มีกระดาษแดงแปะอยู่ ความหมายคือการแต่งงานที่เป็นคู่ และมีความสุข
จริงๆ ส่วนนี้แต่ละฝ่ายจะต้องเตรียมไว้ทั้งหมดฝ่ายละ 48 ผล แบ่งออกเป็นฝั่งละ 2 ถาด (ถาดละ 24 ผล) แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันค่ะ นอกจากนี้เรายังต้องมีขนมห้าอย่างอีกส่วน ที่จะต้องนำมาแลกเปลี่ยนกันด้วย ในนั้นจะมีพวกถั่วตัด ข้าวพองของคนจีน ที่เราเรียกกันว่าขนมแต่งงาน แล้วนำมาห่อด้วยกระดาษแดง ห่อละ 5 กิโล ฝ่ายนึงเตรียมฝั่งละ 2 ห่อ ทั้งหมด 10 กิโลค่ะ
ส่วนฝ่ายเจ้าสาว ก็จะต้องเตรียมกล้วยไว้หนึ่งเครือ เพื่อที่จะมอบให้ฝ่ายเจ้าบ่าว ซึ่งจะต้องแปะกระดาษแดงด้วย แล้วจำนวนหวีที่อยู่ในเครือก็จะต้องเป็น 4 หรือ 6 หวี ส่วนของอื่นๆ ก็ต้องเป็นเลขคู่ทั้งหมด ยิ่งถ้าเป็นเลขสี่ได้ ก็ยิ่งดีเลยค่ะ เพราะคนจีนถือว่า เลขสี่เป็นเลขมงคล งานนี้เราได้อาโกว (พี่สาวคุณพ่อ) มาเป็นแม่งานให้ เพราะรู้วิธีการเตรียมงานแบบ Traditional ที่สุดแล้วค่ะ
ขั้นตอนหลักๆ ของวันงาน จะเป็นการที่เถ้าแก่เริ่มพูดคุยกันก่อนว่าวันนี้จะมีการนำของมาหมั้น หลังจากนั้นก็แลกเปลี่ยนของตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น พอสวมแหวนเสร็จ เจ้าบ่าวก็จะออกจากบ้านเจ้าสาวไปก่อน ที่เป็นแบบนี้เพราะพิธีของเราจัดแบบรวบรัดตัดตอนให้เสร็จภายในวันเดียว เราจึงสมมติว่า ให้เหมือนเจ้าบ่าวออกไปจากบ้านเจ้าสาว แต่ความจริงคือไปอยู่บ้านญาติเจ้าสาวซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันแทนค่ะ หลังจากนั้นก็ทำทีตั้งขบวนมาใหม่ แล้วกลับเข้ามาพร้อมช่อดอกไม้อีกครั้งหนึ่ง
ระหว่างนั้นเจ้าสาวก็จะขึ้นไปบนห้อง แล้วเปลี่ยนเป็นชุดแต่งงาน ซึ่งเป็นกี่เพ้าสีแดง ส่วนเจ้าบ่าวก็จะผ่านประตูเงินประตูทองขึ้นไปรับเจ้าสาว แล้วลงไปไหว้เจ้าที่ ไหว้พระ ไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาวพร้อมกัน ถัดจากนั้นจึงทานอาหาร และยกน้ำชาให้คุณพ่อคุณแม่บ่าวสาวค่ะ
ช่วงของการยกน้ำชา ก็จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีก นั่นคือบ่าวสาวต้องยกให้พ่อแม่ของตัวเองก่อน พอท่านดื่มเสร็จ ก็จะมอบซองกลับมาให้ ญาติผู้ใหญ่ทุกคู่ ก็จะทำเช่นเดียวกันนี้ แต่นอกจากซองแล้ว อาจเป็นของอย่างอื่นได้ด้วย เช่น เงินหรือทอง ความหมายคือ เพื่อให้บ่าวสาวมีกินมีใช้ ไปตั้งตัวได้ แล้วบ่าวสาวก็ต้องให้ของขวัญกลับไปเป็นผ้าขนหนู ซึ่งจริงๆ ถ้าเป็นตามประเพณีดั้งเดิมคือ เราต้องมอบผ้าแพรให้คุณพ่อคุณแม่บ่าวสาว เพื่อให้ตัดชุดสำหรับใส่มาวันเลี้ยงฉลอง แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป เราก็ปรับให้ง่ายขึ้นโดยใช้เป็นผ้าขนหนู ก็จะได้สะดวกขึ้นอีกระดับนึงค่ะ
พอเสร็จพิธีจีน เราก็จะออกจากบ้านเจ้าสาว และขึ้นรถไปทำพิธีไทยต่อที่บ้านเจ้าบ่าว คุณแม่ของเจ้าสาวจะทัดกิ่งทับทิมให้ เพื่อเสริมสิริมงคล และถือเป็นการส่งตัวลูกสาวไปในตัว (ซึ่งที่จริงคุณแม่เจ้าบ่าว ก็จะมีกิ่งทับทิมลักษณะเดียวกันนี้อยู่เหมือนกัน แต่จะทัดให้ตอนรับตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการต้อนรับเข้าบ้าน)
รับตัวที่บ้านเจ้าบ่าว ก่อนปิดท้ายด้วยพิธีไทย
ตอนที่เราไปถึงบ้านเจ้าบ่าว ต้องรอฤกษ์กันนิดนึงก่อน เพื่อให้ถึงเวลาที่กำหนดไว้ค่ะ แต่ก่อนจะเข้าไป ต้องมีน้องชาย 2 คนของเจ้าสาว เป็นคนเดินนำก่อน คนนึงถือตะเกียง อีกคนนึงถือเซฟ แต่ถ้าเจ้าสาวไม่มีน้องชาย ก็ใช้น้องชายเจ้าบ่าว หรือถ้าไม่มีทั้งสองฝ่าย ก็ใช้ญาติผู้ชายแทนได้ค่ะ แล้วหลังจากนั้น บ่าวสาวก็จะเข้าไปนั่งบนเตียงครู่หนึ่ง แล้วย้ายมานั่งเก้าอี้แดงอีกครู่หนึ่ง เพื่อถือเคล็ดว่าจะอยู่รักกันจนแก่เฒ่า
และตอนจังหวะที่เจ้าสาวลงมาจากห้องรับตัวแล้ว เรามีเคล็ดอีกหนึ่งอย่างนั่นคือ ถ้าวันนั้นถ้าใครดวงตามปฏิทินชงกับวันเดือนปีเกิดของเจ้าสาว เขาจะไม่มายืนปะทะกับเรา แต่ต้องไปยืนหลบอยู่สักพักนึงก่อน เพราะเขาเชื่อว่า ดวงบ่าวสาวเป็นดวงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวันนั้นค่ะ ถ้าใครดวงอ่อนเชื่อกันว่า จะเป็นลบกับตัวเขาเอง แต่พอเสร็จพิธีเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเดินออกมาได้ตามปกติ
หลังจากนั้น จะเข้าสู่ประเพณีไทยตามปกติ มีการเชิญพระเพื่อให้ท่านมาให้พร แล้วเราก็ถวายเพล พอท่านฉันเสร็จ ก็ถึงเวลารดน้ำสังข์ เสร็จแล้วก็ถ่ายรูปร่วมกันให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จพิธีค่ะ
แนะนำบ่าวสาว
รู้ตัวว่าจะแต่งงานปุ๊บ ต้องรีบหาข้อมูลไว้ก่อน : อย่างถ้าเป็นพิธีจีน อาจเริ่มจากการขอความรู้ จากคนที่เขาเชี่ยวชาญจริงๆ หรือถ้าไม่อย่างนั้น ก็ไปหาอ่านจากในรีวิว หรือเสิร์ชจากในอินเตอร์เน็ต แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเราค่ะ อีกอย่างคือ ต้องคำนึงถึงบัดเจทของครอบครัวด้วย เพราะประเพณีจีน ยิ่งจัดเต็มมาก ยิ่งใช้งบประมาณมาก ปรับให้เข้ากับงบประมาณด้วยถึงจะดีที่สุดค่ะ